top of page

จอประสาทตาลอก
จอประสาทตาลอก, จอตาลอก หรือ จอตาหลุดลอก (Retinal detachment) คือ ภาวะที่เกิดการแยกหรือลอกตัวของจอประสาทตาออกจากตำแหน่งเดิมทำให้ผู้ป่วยมีอาการมองเห็นแสงวาบคล้ายฟ้าแลบหรือแสงแฟลชถ่ายรูป และมีอาการมองเห็นจุดดำหรือเส้นสีดำ ๆ คล้ายเงาหยากไย่ลอยไปลอยมา ร่วมกับมีอาการตามัว โรคนี้สามารถพบเกิดได้ในทุกช่วงอายุ แต่ด้วยสาเหตุของโรคนี้ที่มักเกิดจากความเสื่อมตามอายุ จึงทำให้พบได้บ่อยในคนที่มีอายุมากกว่า 50 ปี

แองเคอ 1
research_angiogenesis_eye_01sdds.jpg

จอประสาทตาลอก

สาเหตุของจอประสาทตาลอก
 1. จอประสาทตาลอกที่เกิดจากรูหรือรอยฉีกขาดที่จอประสาทตา (Rhegmatogenous retinal detachment - RRD) เป็นสาเหตุของจอประสาทตาลอกที่พบได้บ่อยที่สุด ทำให้มีของเหลวของน้ำวุ้นลูกตาแทรกซึมเข้าไปเซาะให้จอตาลอก ส่วนใหญ่มักเกิดจากการกระทบกระเทือนอย่างรุนแรงที่ตา จอประสาทตาเสื่อมในผู้ป่วยที่มีสายตาสั้น หรือเกิดรูขาดขึ้นเองไม่ทราบสาเหตุ


 2. จอประสาทตาลอกที่เกิดจากการดึงรั้ง (Tractional retinal detachment - TRD) เกิดจากจอประสาทตาส่วนที่ยึดติดแน่นกับส่วนผิวของน้ำวุ้นลูกตาถูกแรงดึงรั้งจากน้ำวุ้นลูกตา ทำให้จอประสาทตาหลุดลอกจากผนังลูกตา เป็นสาเหตุที่พบได้ไม่บ่อย มักพบในผู้ป่วยเบาหวานขึ้นจอรับภาพระยะท้ายที่มีเส้นเลือดงอกผิดปกติที่จอรับภาพและมีเลือดออกในน้ำวุ้นลูกตา ผู้ป่วยที่มีการอักเสบของน้ำวุ้นลูกตาหรือจอประสาทตาอย่างรุนแรงจนเกิดชั้นพังผืด หรือในผู้ป่วยที่เคยได้รับอุบัติเหตุทางตาที่ทำให้ลูกตาแตกหรือทะลุมาก่อน


 3. จอประสาทตาลอกที่ไม่มีรูขาดที่จอประสาทตา (Exudative retinal detachment - ERD) เป็นกรณีที่เกิดจากการอักเสบหรืออุบัติเหตุ ทำให้มีน้ำรั่วซึม/สิ่งซึมเยิ้มขังหรือสะสมอยู่ใต้ชั้นจอประสาทตา มักพบได้ในผู้ป่วยที่มีโรคคอรอยด์อักเสบ เนื้องอกที่จอประสาทตา หรือในผู้ป่วยที่มีความดันโลหิตสูงมาก ๆ ภาวะไตวาย เป็นต้น

eyes-reviewจอตาลอก.jpg

อาการของจอประสาทตาลอก
- ผู้ป่วยจะมีอาการมองเห็นผิดปกติ โดยไม่มีอาการปวดตา เจ็บตา ตาแดง หรือตาแฉะแต่อย่างใด
- ในระยะเริ่มแรกผู้ป่วยจะมีอาการมองเห็นแสงวาบคล้ายฟ้าแลบหรือแสงแฟลชถ่ายรูป (Flashing) ในตาข้างหนึ่งหรือสองข้างในขณะที่หลับตาหรืออยู่ในที่มืด ซึ่งมักจะเกิดจากจอประสาทตาถูกกระตุ้นจากแรงดึงรั้งของน้ำวุ้นลูกตาที่เข้าไปในจอประสาทตาจากรูที่ฉีกขาด
- มีอาการมองเห็นจุดดำหรือเส้นสีดำ ๆ คล้ายเงาหยากไย่ ยุง หรือแมลงวันลอยไปลอยมาอยู่ในลูกตา (Eye floaters) ซึ่งจะมองเห็นได้ชัดในที่สว่าง โดยเฉพาะเวลาแหงนมองท้องฟ้าใส หรือมองไปที่ผนังสีขาว หรือก้มลง เช่น ในขณะที่ดื่มน้ำ ทำให้ผู้ป่วยนึกว่ามีหยากไย่อยู่ที่ข้างนอกลูกตา และพยายามขยี้ตาแต่เงาก็ไม่หายไป จึงสร้างความรำคาญให้กับผู้ป่วย แต่พอนาน ๆ เข้าก็รู้สึกเคยชิน
- มีอาการตามัวร่วมด้วย ซึ่งอาจทำให้การมองเห็นคล้ายมีหมอกบัง หรือเห็นเงาคล้ายม่าน หรือเห็นภาพเป็นคลื่น ๆ หรือคดงอ
- หากไม่ได้รับการรักษาและปล่อยให้เป็นอยู่นาน ๆ ผู้ป่วยจะเริ่มรู้สึกว่ามองเห็นเงาอยู่ที่ขอบของลานสายตา ซึ่งจะขยายใหญ่ขึ้นจนเต็มลานสายตาภายในไม่กี่วัน

bottom of page